Home / ข่าวหุ่นยนต์ / “ทีม Green” คว้าแชมป์ หุ่นยนต์การผลิตอัจฉริยะ

“ทีม Green” คว้าแชมป์ หุ่นยนต์การผลิตอัจฉริยะ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ และ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขัน “ออกแบบและ สร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 : RDC2018” รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ

ปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกจากระดับภูมิภาคทั่วประเทศไทยจำนวน 68 คน จาก 26 สถาบัน มาคละสถาบันแบ่งออกเป็น 16 ทีมร่วมแข่งขัน เพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนไป ร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือ “IDC Robocon 2018” ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมนี้

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า การแข่งขันจะอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Robot for Smart Manufacturing : หุ่นยนต์สำหรับการผลิตอัจฉริยะ” เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาและการนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งานได้จริง

โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุนและแรงงานในการผลิต ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสร้างหุ่นยนต์เพื่อช่วยงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในการแข่งขันจะจำลองโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า นับเป็นโอกาสดีที่เยาวชนไทยจะได้มีโอกาสร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบหุ่นยนต์ตามกติกาในครั้งนี้

กติกาการแข่งขัน ทีมผู้เข้าแข่งขันจะต้องออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ 2 ชนิด คือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Auto Robot) และ หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) เพื่อใช้ทำภารกิจในโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นจะต้องใช้วัสดุที่จัดเตรียมไว้ให้แต่ละกลุ่มและที่เตรียมไว้ในห้องปฏิบัติการภายใต้กฎกติกา หากต้องใช้วัสดุเพิ่มเติมจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ

ผลการแข่งขัน ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Green สมาชิกในทีม 4 คนประกอบด้วย น.ส.ศุวดี เจ๊ะเล็ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายจิรัฐ คงกะพันธ์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นายวีรยุทธ บัวเพชร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพายัพ และ นายปัณฑ์ธร ตรีวัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปัณฑ์ธรกล่าวว่า พวกเรารู้สึกสนุกมากที่สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมา มีเวลาเพียงแค่ 2 อาทิตย์ ในการแลกเปลี่ยนความคิดไอเดียต่างๆ ได้ทำงานกับเพื่อนๆ วางแผนช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหา ที่สำคัญเป็นการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ต่างสถาบัน เป็นประสบการณ์ที่ดีที่เราได้มาแชร์ความรู้จนสามารถชนะเลิศได้ในที่สุด เรามีแนวคิดการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์โดยมุ่งเน้นให้หุ่นยนต์ทั้ง 2 แบบมีเทคนิคการใช้งานและโครงสร้างที่เหมือนกันคือไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการซ่อมแซมและปรับการใช้งาน แต่มีลักษณะพิเศษตรงที่หุ่นยนต์บังคับมือจะออกแบบให้มือจับสามารถหนีบแล้วตีลังกาไปด้านหลังเพื่อวางของและตั้งได้ถูกต้องด้วยความรวดเร็ว ทั้งยังออกแบบให้เกียร์ช่วยทุ่นแรงควบคู่ไปกับการใช้ตัวถ่วงเพื่อช่วยให้เกียร์ทำงานน้อยลงและประหยัดเวลามากขึ้น เราแบ่งหน้าที่กันตามความสามารถความถนัดของแต่ละคน

 

“รู้สึกตื่นเต้น ดีใจ ประทับใจที่ทีมเรามาถึงจุดนี้ จากนี้คงต้องเตรียมตัวกันทั้งในเรื่องภาษาอังกฤษ และทำการบ้านเรื่องแม็กคานิกส์ที่เราจะใช้สร้างหุ่นยนต์ ทีม Green จะพยายามอย่างเต็มที่ ฝากเพื่อนๆ ช่วยเชียร์ พวกเราในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ หรือ IDC Robocon 2018 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย” ปัณฑ์ธรกล่าว